ซีอีโอ Gibson – ผู้สร้าง? ผู้ทำลาย? และ “พวกสาวกคือปัญหา”

ท่ามกลางวิกฤติการณ์ทางการเงินของกิบสันที่กำลังร้อนระอุอยู่ในเวลานี้ มีคนคนหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญที่สื่อต่างประเทศมักเอ่ยถึงบ่อยๆ เขาผู้นี้ ในยุคสมัยหนึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “ผู้ชุบชีวิต” บริษัทกิบสันขึ้นมาจากยุคเสื่อมโทรม จนเกิดเป็นกีตาร์ Les Paul ปี 90s และ ’59 Reissue ที่เพื่อนๆเหล่าสาวกต่างตามหา

แต่ ณ วันนี้เขาก็อาจเป็นคนที่กำลังถูกเกลียดมากที่สุดคนหนึ่งในโลกของวงการกีตาร์ ผมกำลังพูดถึง Mr. Henry Juszkiewicz CEO ของ Gibson ครับ

ประวัติ Henry Juszkiewicz

http://www.latimes.com/entertainment/music/la-et-ms-gibson-brands-guitar-henry-juszkiewicz-20170618-htmlstory.html

Henry Juszkiewicz (เฮนรี่ จัสคูวิซ) เกิดเมื่อ ค.ศ. 1953 เป็นคนโปแลนด์ แต่ครอบครัวของเขาอพยพย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ที่ New York เมื่อเขาอายุ 5 ขวบ คุณเฮนรี่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องกลจากสถาบัน General Motors Institute ในปี 1973 และจบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจหรือ MBA จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในปี 1976

เฮนรี่ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นสมัยเรียน MBA ที่ฮาวาร์ด 2 คน David H. Berryman และ Gary A. Zebrowski ซื้อกิจการบริษัท Gibson ต่อจากกลุ่มบริษัท Norlin ในเดือนมกราคม ปี 1986 ด้วยเงิน 5 ล้านเหรียญที่ได้จากการกู้ธนาคาร

 

เขาเป็นใครใน Gibson?

เพื่อนๆคงบอกว่าก็เป็น CEO สิวะ! มันก็ใช่ส่วนนึงครับ แต่ที่จริงแล้ว Henry ไม่ได้เป็นแค่ CEO ครับ แต่ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นประธานบอร์ดบริหาร (Chairman) ด้วย อธิบายตำแหน่งแชร์แมนแบบง่ายๆคือ บรรดาผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนจะโหวตเลือกตัวแทนกลุ่มหนึ่งมานั่งเป็นคณะกรรมการหรือบอร์ดบริหารบริษัท (board of directors) เพื่อทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาดูแลผลประโยชน์แทนพวกตน และกำหนดนโยบายและแผนดำเนินกิจการระยะยาวของบริษัท โดยบอร์ดบริหารคณะนี้จะมีคนคนหนึ่งนั่งหัวโต๊ะเพื่อทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมและเป็นตัวกลางประสานระหว่างบอร์ดและ CEO

 

 

ส่วน CEO คือเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่บอร์ดสรรหามา CEO มีอำนาจตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในบริษัท มีอำนาจสั่งการกำกับดูแลผู้จัดการแผนกต่างๆ ให้เป็นไปตามนโยบายและแผนของบริษัทที่ได้กำหนดไว้ อาจกล่าวได้ว่า CEO คือผู้ควบคุมกิจกรรมต่างๆ ของบริษัท

ในกรณีของ Gibson Brands Inc. นั้น Henry เป็นทั้ง CEO และ Chairman คือคนเดียวมีบทบาททั้งระดับนโยบายและระดับสั่งการแถมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกต่างหาก ดังนั้นหาก CEO Henry ทำงานไม่เข้าตากรรมการ (บอร์ด) การจะปลดเขาออกก็ทำได้ยาก เพราะแกมีอำนาจต่อรองสูงทั้งในระดับนโยบาย การบริหาร และเป็นเจ้าของกิจการ (เพราะถือหุ้นใหญ่สุด) นอกจาก CEO แล้วก็ยังมี chief หน้าที่อื่นๆอีก เช่นทCOO (ด้าน operations หรือปฏิบัติงาน) CFO (ด้าน Financial คือ การเงิน) และ CMO (marketing คือด้านการตลาด) ซึ่ง ณ วันที่ผมเขียนบทความนี้ ตำแหน่งนี้ได้ว่างลงแล้ว และกิบสันเพิ่งลงประกาศรับสมัครเมื่อไม่กี่วันนี้เอง ใครสนใจก็ลองสมัครดูนะครับ ฮ่าๆ

ส่วน President หรือประธานบริษัทนั้นที่จริงไม่ได้ใหญ่โตอะไรนะครับ ประธานของกิบสันไม่ใช่เจ้าของบริษัท ไม่ใช่หุ้นส่วน ไม่มีอำนาจตัดสินใจสูงเท่า CEO แต่มีหน้าที่คล้าย CEO คือรับผิดชอบการดำเนินกิจกรรมต่างๆภายในบริษัท แต่อยู่ใต้ CEO หากบริษัทไหนมีบริษัทลูกเยอะๆ เขาก็อาจมีการแต่งตั้งตำแหน่งประธานหลายๆคน แยกกันคุมคนละบริษัท เหมือนสมัยโบราณที่เจ้าเมืองใหญ่ส่งลูกหลานของตัวเองหรือที่ขุนศึกที่ไว้ใจได้ออกไปคุมหัวเมืองประเทศราช

ถ้าใครอ่านบทความเรื่อง PRS McCarty ตอนที่หนึ่งของผมที่ได้นำเสนอไป จะเห็นว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่ปู่ Ted McCarty อดีตประธานบริษัทกิบสันได้กล่าวตัดพ้อถึงการทำงานในสมัยที่ตัวเองที่บริษัท Gibson ในยุค 50-60s ว่าไม่มีใครสนใจอยากพูดคุยเรื่องผลงานสร้างสรรค์กีตาร์ของแกเลย เพราะคนที่นั่นมักพูดถึงแต่เรื่องผลกำไร เหมือนแกไม่ค่อยได้รับความสำคัญ ซึ่งถ้าใครอ่านแล้วก็คงพอจะเห็นภาพว่าตำแหน่ง President ในบริษัทนี้ แม้ชื่อตำแหน่งจะดูเหมือนใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ตำแหน่งระดับที่กำหนดนโยบายของบริษัท คนข้างบนสั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำ

 

ผลงานของซีอีโอ เฮนรี่

ผมขอโฟกัสไปที่กีตาร์ Les Paul ในการอ้างอิงผลงานของแกแต่ละช่วงปี และเอาแค่สรุปๆ เพื่อความง่ายในการดูความเปลี่ยนแปลงนะครับ

Gibson Corp. ก่อนปี 1986 และสิ่งที่ทำเพื่อชุบชีวิตกิจการ

นับจากที่เฮนรี่และผองเพื่อนเข้าซื้อกิจการบริษัท Gibson จากกลุ่มบริษัท Norlin Music Inc. เมื่อปี 86 เฮนรี่ก็มีบทบาทอย่างมากในการแก้ไขวิกฤติของแบรนด์ที่กำลังย่ำแย่อย่างที่สุดในช่วงทศวรรษ 70s – 80s แย่ยังไง? ก็ประมาณรูปข้างล่างนี้ครับ

ท็อปสามชิ้น ดูเผินๆ นึกว่า Les Paul เข้าคอแบบ neck through

https://www.lespaulforum.com/forum/showthread.php?130119-Looking-for-Book-or-Website-to-indentify-any-Gibson-Les-Paul

บอดี้ประกบแพนเค้ก ลดต้นทุนค่าไม้

http://guitarampboard.com/forum/viewtopic.php?f=5&t=11351

ในเวลานั้นแบรนด์กิบสันภายใต้การบริหารของกลุ่มบริษัท Norlin จากประเทศเอกวาดอร์กำลังขาดทุนอย่างหนักจนต้องปลดคนงาน และยกเลิกสายการผลิตเกือบทุกรุ่นจนเหลือแต่ Les Paul ซึ่งก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพการผลิตและกำลังประสบภาวะขาดทุน เมื่อเฮนรี่และเพื่อนๆ ได้เป็นเจ้าของบริษัทกีตาร์ชื่อดังที่กำลังป่วยหนักแห่งนี้ พวกเขาก็เริ่มแก้ปัญหาเร่งด่วนทางการเงินโดยเริ่มจากการปลดพนักงานจำนวน 30 คนจากทั้งหมด 250 คน และปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงยกแผง

ในส่วนของการแก้ไขกระบวนการผลิตที่มีปัญหา ทีมเฮนรี่ต้องลงตรวจสอบกระบวนการผลิตทั้งหมด ไล่เช็กปรับแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เรื่องเกรดไม้ ระบบไฟฟ้าของกีตาร์ ยันเครื่องจักรที่ใช้ผลิต นอกจากนี้ในส่วนของปิคอัพ ทางทีมงานก็ได้เอาปิคอัพปีเก่ามาชำแหละแกะดู ศึกษาไส้ในอย่างละเอียดเพื่อใช้เป็นต้นแบบของปิคอัพที่จะผลิตใหม่ต่อไป

1990s – 2000s ยุคเรอเนซองของ Gibson

การผ่าตัดช่วยชีวิตคนไข้ชื่อกิบสันโดยทีมแพทย์เฮนรี่นั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม บริษัทกิบสันกลับมามีผลประกอบการที่ดีขึ้น เสียงตอบรับจากสาวกของแบรนด์กลับมาอีกครั้ง ตัวแทนจำหน่ายต่างก็แซ่ซ้องสรรเสริญ ไลน์ผลิตที่เคยยกเลิกไปสมัยนอร์ลินก็ถูกชุบชีวิตกลับมา และใช่ครับ Les Paul Standard ปี 90s ที่เพื่อนๆตามหากันนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากฝีมือของชายผู้นี้นี่เอง 

เมื่อกิจการกิบสันเริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทางในยุค 90s แล้ว บริษัทก็เริ่มเข้าซื้อกิจการแบรนด์เครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น Steinberger กับ Slingerland เฮนรี่ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ New York Times เมื่อปี 1994 ว่า Gibson ต้องการเป็นแบรนด์เครื่องดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา คลิกอ่านเรื่องราววันวานยังหวานอยู่ของกิบสันยุคเก้าศูนย์ได้ที่นี่ครับ

http://www.edroman.com/detail_sheets/steinberger_m-guitar_d230bk.html

นอกจากการปรับปรุงแก้ไขการผลิตและวัสดุให้มีคุณภาพมากกว่ายุคนอร์ลิน อีกสิ่งหนึ่งที่เฮนรี่และผองเพื่อนให้ความสำคัญคือการทำให้กีตาร์กิบสันในยุคของพวกเขามีความถูกต้อง ใกล้เคียงกับกีตาร์ยุคเก่าของจริง (vintage correct) ซึ่งตัวอย่างหนึ่งที่เป็นผลงานของเขาก็คือ SG ’62 Reissue กับ SG ’61 Reissue นะครับ ซึ่งสำหรับ ’61 Re ก็เป็น SG ที่หลายๆคนก็ชอบในความสวยสบายตา คอบางเล่นง่าย เสียงหวานเสนาะหู แต่นอกจากนี้ยังมี Reissue รุ่นไหนอะไรบ้าง เหล่าสาวกคงทราบดีอยู่แล้ว ขอข้ามเนื้อหาส่วนนี้นะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นบทความประวัติกีตาร์เลสพอล อิอิ

http://www.everythingsg.com/threads/61-vs-62-reissue.17977/

ไม้ท็อปน้อยชิ้น แพนเค้กหายไป ก็ไฉไลทันตา น่าซื้อหามาครอบครองนะออเจ้า

https://reverb.com/item/10154702-2003-gibson-les-paul-standard-cherry-sunburst

Slash’s Snakepit ก็เกิดในยุ่งเฟื่องฟูนี้แหละครับ

https://www.ebay.ie/itm/gibson-slash-snakepit-1996-signature-les-paul-custom-guitar/321924519477?hash=item4af4325635

2008 – 2018 สู่ยุคใหม่ ใส่นวัตกรรม

ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (2018) Les Paul Standard ขวัญใจมหาชนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากภายในสู่ภายนอก เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับกีตาร์ตระกูลนี้ ไม่ว่าจะเป็น:

  • การเจาะบอดี้ลดน้ำหนักแบบ modern/ultra modern weight relief
  • ลูกบิดล็อกสาย
  • ลูกบิดอัติโนมัติ G-Force 
  • คอ asymmetrical
  • คอเว้าลึก Axess neck joint
  • ระบบไฟฟ้าสารพัดตัดคอยล์
  • ฯลฯ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็ประมาณนี้นะครับ

เทคนิคการเจาะบอดี้ลดน้ำหนักที่มีวิวัฒนาการ ล่าสุดเป็น ultra modern weight relief ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อความเบา ยืนเล่นสบาย แต่ยังคงเนื้อเสียงอย่าง solid body แต่ผมว่าแบบนี้เส้นแบ่งระหว่างคำว่า solid body กับ semi-hollow body มันก็คงบางๆ เบลอๆ ลงไปเหมือนกันนะ

http://markweinguitarlessons.com/forums/threads/gibson-ultra-modern-weight-relief.81563/

ลูกบิดล็อกสาย

http://www.12fret.com/2011/08/16/gibson-les-paul-standard/

ลูกบิดอัตโนมัติ G-force

ปุ่ม push-pull ตัดคอยล์, กลับ phase, bypass เยอะจนผมงง

ซอกคอปาดเว้าเร้าใจ Fast Access neck heel

http://www.gibson.com/Products/Electric-Guitars/2018/USA/Les-Paul-Standard-HP-2018.aspx

คุณเฮนรี่กล่าวกับหนังสือพิมพ์ LA Times เมื่อสองปีที่แล้ว เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้กับกีตาร์กิบสัน ว่า “Technology is a wonderful thing, but technology doesn’t always sit well [with consumers], mostly because there’s not enough marketing dollars to let everybody know what it’s all about.” เทคโนโลยีเป็นสิ่งสวยงาม แต่ลูกค้ามักไม่ให้การยอมรับ เนื่องจากเราขาดงบประมาณทำการตลาดสร้างความเข้าใจ

Gibson เป็นแบรนด์ “Music Lifestyle” นะ ไม่ใช่แค่ยี่ห้อกีตาร์ เข้าใจกันบ้างสิ!!

คุณซีอีโอเฮนรี่เคยตั้งใจไว้ตั้งแต่สมัยที่ซื้อกิจการกิบสันเมื่อ 32 ปีที่แล้วว่า จะค่อยๆ ปั้นแบรนด์ Gibson ให้เป็นมากกว่ายี่ห้อกีตาร์ โดยจะทำให้กลายเป็นแบรนด์ music lifestyle คล้ายๆที่ Nike เติบโตจากแบรนด์อุปกรณ์กีฬาเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ ด้วยเหตุนี้ในช่วงปี 90s เมื่อกิจการกิบสันที่ซื้อมาเริ่มเติบโต เงินทองไหลมาเทมา ก็เริ่มลงทุนซื้อกิจการหลายๆแบรนด์ และทำแบบนั้นมาเรือยๆ จนมีบริษัทในเครือมากกว่า 20 แบรนด์ เพื่อเติมเต็มความต้องการของลูกค้าในกลุ่ม music lifestyle (ผมไม่รู้ว่า ที่แบรนด์ Nike ซื้อ Converse นั่นก็เป็นแรงบันดาลใจของแกด้วยรึเปล่านะครับ)

แต่ที่ฮือฮาที่สุดเห็นจะเป็นการซื้อแบรนด์เครื่องเสียง Phillips ด้วยเงิน 135 ล้านเหรียญในปี 2014 ซึ่งแน่นอนว่าตอนนั้นผู้คนมากมายต่างก็อยากรู้เหตุผลว่า Gibson ทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร ซึ่งคุณเฮนรี่ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้อย่างนี้ครับ

“The first question we get about that is, ‘Why would a guitar company do that?’ The fact is, we don’t see ourselves as a guitar company, we see ourselves as a music lifestyle company.”

“Overnight we tripled the size of our company. That’s been a challenge. But I felt it was a once-in-a-lifetime opportunity that I couldn’t pass up.”

อะ เหมือนเดิม ไม่ใช่แค่เอามาแปะ แต่แปลให้ด้วยจร้า

“ใครๆก็ถามว่า บริษัทกีตาร์จะซื้อกิจการเครื่องเสียงไปทำไมกัน ผมอยากบอกว่าที่จริงเราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นบริษัทผลิตกีตาร์นะ เรามองว่าตัวเองเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ด้านดนตรีมากกว่า”

“เราขยายบริษัทของเราให้ใหญ่ขึ้นถึง 3 เท่าในชั่วข้ามคืน นี่ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แต่ผมมองว่านี่อาจจะเป็นโอกาสเดียวในชีวิตที่ได้ทำแบบนี้ ผมไม่อยากปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านเลยไป”

andreweverard.com

อ่านต้นฉบับได้ที่นี่ครับ http://www.latimes.com/entertainment/music/la-et-ms-gibson-brands-guitar-henry-juszkiewicz-20170618-htmlstory.html

ถ้าเพื่อนๆ ติดตามอ่านบทความเรื่องกิบสันใกล้ล้มละลายของผมมาแล้ว จะเห็นว่ากิบสันยุค 20XX ซื้อบริษัทในกลุ่มธุรกิจเครื่องเสียง ซอฟท์แวร์ห้องอัด ฯลฯ เป็นว่าเล่น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็อย่างที่ผมเล่าไป คือสาหัสสากรรจ์ เพราะกู้เงินบานเบอะมาลงทุนแล้วก็ล้มเหลวไม่ได้กำไร จนต้องขายบริษัทลูกบางบริษัทออกไป โละคนงาน Custom Shop ฯลฯ

แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ Bloomberg ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์คุณเฮนรี่หลังจากออกมาประกาศยอมรับสถานการณ์วิกฤติทางการเงิน ใจความตอนหนึ่งว่า

“My dream was to be the Nike of music lifestyle. At this point, I have to cut back on that ambition, frankly.”

“ผมเคยฝันไว้ว่าจะทำให้แบรนด์ Gibson เป็นเหมือน Nike ของวงการดนตรี แต่ในวันนี้ต้องพูดตามตรงว่า ผมคงต้องลดความทะเยอทะยานนี้ลง”

ครับ ก็คงต้องอย่างนั้นแหละ

 

สาวกกิบสันมีส่วนทำให้เป็นแบบนี้

เมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซต์ musicradar นำเสนอข่าวว่า เฮนรี่กล่าวกับ Billboard เพื่อตอบโต้กระแสวิจารณ์เรื่องวิกฤติการเงินของบริษัท ตอนหนึ่งว่า

“[The industry is] stuck in a time warp, and the ‘purists’ have a very loud voice on the online forums. Kids today may think some music from the ’50s is kind of cool here and there, but what other industry do you know that hasn’t changed since the ’50s? Those guitars from the 50s are what the purists want, but we have to have something new and exciting.

Imagine if the camera had never changed. Innovation is a part of every business to some degree, but [the guitar industry] hates it. The kids demand it, and if you don’t have it, they walk.”

“อุตสาหกรรมกีตาร์ของเรากำลังติดหล่มวินเทจ และเสียงวิจารณ์ออนไลน์จากเหล่าสาวกกีตาร์วินเทจก็ทำให้คนอ่านคล้อยตาม เด็กรุ่นใหม่ๆต่างก็คลั่งใคล้กีตาร์ฮีโร่ยุค 50 แต่มันมีวงการไหนบ้างล่ะที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยตั้งแต่ยุคนั้น พวกสาวกจะเอาแต่วินเทจยุคเก่าๆ แต่เราต้องการสิ่งใหม่ๆ ที่น่าเร้าใจต่างหากล่ะ

เฮนรี่ยังกล่าวต่อด้วยว่า “ทุกอุตสาหกรรมมันก็ต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ กันทั้งนั้น ดูอย่างกล้องถ่ายรูปสิ ถ้าไม่มีการเอาเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้เลยมันจะเป็นยังไง แต่วงการกีตาร์ของเรากลับเกลียดนวัตกรรม เด็กรุ่นใหม่ๆ เขาอยากได้นะ ถ้าไม่มีอะไรใหม่ๆให้พวกเขา เราก็เสียลูกค้า” 

 

สรุป

มาถึงตรงนี้ ผมไม่รู้ว่าเพื่อนๆคิดกับแกอย่างไร แต่ผมมองแกแบบนี้นะครับ ว่า แกมีความทะเยอทะยาน มีวิสัยทัศน์ ใช้เหตุผล และมองหาสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะนำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัทแกเอง อาจจะด้วยธรรมชาติของแกที่จบสายวิศวกรรมและบริหารธุรกิจมา ผมคิดว่าสิ่งต่างๆที่แกทำลงไปแกมีเจตนาดีนะครับ เพียงแต่มันไม่ค่อยเข้ากับรสนิยมของลูกค้ากลุ่มใหญ่ของบริษัทสักเท่าไหร่ แต่จะโดนใจลูกค้าอินดี้อย่างผมมากกว่า

ส่วนที่แกอ้างว่าสาวกมีส่วนที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้ติดกับดักของเก่า ผมคิดว่าจะว่าอย่างนั้นเสียทีเดียวก็ไม่ถูกนัก อย่าลืมว่ากว่ากิบสันจะร่ำรวยขึ้นมาตั้งแต่ปี 86 นั้น ก็ไม่ใช่เพราะลูกค้าหน้าเก่าพวกนี้หรอกหรือที่สนับสนุนบริษัทมาตลอด ผมว่ากิบสันเองนั่นแหละ ที่โปรโมทกีตาร์ซีรีส์เก่ามาตั้งแต่ต้น และด้วยเวลาผ่านไป 32 ปี ความเชื่อพวกนี้มันฝังรากลึกไปแล้ว ไหนจะมีแต่รุ่นลายเซ็นศิลปินรุ่นเก่าๆ หากินแต่กับอะไรเก่าๆ ไม่สร้างรุ่นลายเซ็นให้ศิลปินรุ่นใหม่ๆไว้เผื่อขายกีตาร์สเปคสมัยใหม่ ไม่มองเผื่ออนาคตไว้เอง แล้วจะไปโทษใคร?

งั้น Gibson จะทำไงดี เปลี่ยนความคิดคนก็ยาก ทำรุ่นใหม่ก็โดนด่า ผมเสนอว่าก็ทำให้กีตาร์เลสพอลเป็นสไตล์วินเทจแม่งให้หมดทุกไลน์เลย แล้วเก็บสไตล์ล้ำสมัยไว้ Custom shop แทน ดีมั้ยครับ? – ล้อเล่นนะครับ ฮ่าๆๆๆ

และด้วยความที่แบรนด์นี้เป็นแบรนด์เก่าแก่ มันก็ช่วยไม่ได้จริงๆที่บริษัทจะเน้นการทำตลาดที่ขายความเก่า โดยสร้างค่านิยมว่ากีตาร์รุ่นเลียนแบบปีเก่าคือรุ่นสูงและน่าสะสม ทีนี้เมื่อบริษัทพยายามนำเสนอสิ่งใหม่ๆ บ้าง ก็กลับถูกลูกค้าเก่าของตัวเองปฏิเสธ ซึ่งผมมองว่ากิบสันยุคนี้กำลังติดกับดักวินเทจของตัวเองเข้าอย่างจัง จะมาปรับทัศนคติอะไรกันตอนนี้ก็ยาก คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร

ถ้าใครหาว่าผมพูดเกินไป งั้น ลองดู R9 ตัวนี้ แล้วช่วยบอกผมทีว่า “โธ่เอ๊ย กะอีแค่กีตาร์เน่าๆ เยินๆ สวยตรงไหนวะ กูไม่เห็นจะอยากได้ซักนิด” 555

http://davesguitar.com/products/gibson/1959-les-paul-reissue-heavy-aged-benchmark-limited-run-8/

 

ส่งท้าย

ถ้าใครอ่านบทความของผมที่ผ่านมา เกี่ยวกับแนวโน้มล้มละลายของกิบสัน (และอ่านจนจบ) จะเข้าใจดีว่าผมไม่เคยบอกว่าการที่กิบสัน (หรือคุณเฮนรี่) ไปซื้อกิจการเครื่องเสียง ซอฟท์แวร์ห้องอัด อะไรต่อมิอะไรพวกนั้นมันผิด เพียงแต่เป็นการลงทุนที่ผิดพลาด สมมติถ้าในวันนี้กิบสันประสบความสำเร็จกับการลงทุนแบบนั้น วันนี้ก็คงไม่มีใครด่า ไม่มีดราม่าแบบนี้หรอกครับ สรุปสั้นๆ ในทางธุรกิจกิบสันไม่ได้ทำอะไรผิด ก็แค่ลงทุนแล้วเจ๊ง

ณ ตอนที่นั่งเขียนบทความนี้ผมยังไม่มีข้อมูลว่ากิบสันดำเนินการตามแผนขอ refinance คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ขายกิจการอะไรเพิ่มอีกบ้าง เวลาก็เหลือน้อยลงทุกทีๆ ยังไงถ้าผมทราบข้อมูลใหม่ๆจะมาอัพเดทให้เพื่อนๆฟังต่อไปนะครับ

 

****************************************

ติดตามผมได้ทางเพจ https://web.facebook.com/funkyfreemanpage/ นะครับ ขอบคุณคร้าบ