PRS SE A50E ของจริงสวยมาก

เมื่อวานผมมีธุระที่เซ็นทรัลลาดพร้าว บังเอิญเดินผ่านร้านตัวแทน PRS เลยแวะเข้าไปดูสักหน่อย เพราะอยากลองกีตาร์โปร่งล็อตใหม่อยู่เหมือนกัน ก็ขอเขาลองสองรุ่นครับท่ีตัวเองเล็งๆไว้ คือ A40E (ovangkol) กับ A50E (maple) สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูสเปคเร้าใจของกีตาร์โปร่ง SE ล็อตใหม่ทั้ง 6 รุ่น คลิกดูได้ท้้งหมดที่นี่ครับ

ผมลองเล่น fingerstyle ด้วย SE A40E ตัวโอแวงคอลแล้ว (โอแวงคอลเป็นไม้ในตระกูลโรสวูด) รู้สึกว่าเสียงมันคล้ายมาฮอกกานีมากกว่าโรสวูดนะ ออกไปทางนุ่มๆ มากกว่าแหลมใส โดยรวมบาลานซ์ดี แต่ความเคลียร์และย่านแหลมยังไม่มากพอตามที่ผมคาดหวัง บางทีอาจเพราะผมเอา Taylor 414 ที่เคยเล่นมาเป็นตัวเปรียบเทียบ ซึ่งจะว่าไปแล้วคงไม่แฟร์ถ้าเอากีตาร์ระดับนั้นมาเทียบกับ SE A40E

เลยขอพี่เขาลอง A50E ที่เล็งมานาน สเปครุ่นท็อปนี้ เป็นแบบนี้ครับ

  • ไม้หลังและข้าง – เมเปิล (laminated)
  • ไม้หน้า – Solid Sitka Spruce
  • Bracing – PRS Hybrid “X” / Classical Bracing แบบเดียวกับกีตาร์ PRS Angelus Private Stock
  • ฟิงเกอร์บอร์ดและบริดจ์ – ไม้อีโบนี
  • คอ – มาฮอกกานี
  • เชพคอ – Wide Fat
  • สเกล – 25.3 นิ้ว
  • อินเลย์ – นกอบาโลน
  • นัทและแซดเดิล – กระดูก
  • หัว – แปะ rosewood veneer สกรีนลายเซ็น Paul Reed Smith
  • บายดิ้ง – ขาว-ดำ ด้านหน้าและหลังบอดี้
  • Rosette – อบาโลน สลับกับสีขาวและสีดำ
  • Purfling – อบาโลน
  • สี – natural
  • เคลือบ – เงา ทั้งตัว
  • ลูกบิด – PRS designed
  • ภาคไฟฟ้า – Fishman GT1 ซ่อนปุ่มวอลุ่มกับโทนใต้ soundhole
  • Accessories – hard case

 

โอ้ว ออเจ้าช่างงามล้ำ

 

headstock แปะวีเนียร์โรสวูดด้วย นัทเป็นกระดูก

 

นี่ไง ไฮไลท์ อินเลย์นกอบาโลน fingerboard & bridge เป็นไม้ ebony ด้วยนะเออ

 

 

รวมถึง purfling ตามขอบท็อปและ rosette ก็อบาโลน

 

Laminated maple back&sides มีลายเฟลมพองาม บายดิ้งสีดำ

 

 

ความสวย

คงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก หลักฐานฟ้องด้วยภาพหมดแล้ว อินเลย์นกอบาโลนของจริงของ SE A50E สวยมาก ไม่คิดว่ามันจะมาอยู่ในไลน์ SE มันเขียวเข้มอย่างกับพวก green ripple abalone ของ USA บางตัวเลยทีเดียว (แม้ที่จริงวัสดุจะเป็นอบาโลนคนละประเภทกัน แต่มันก็สวยกว่าโปร่งหลายๆตัวในท้องตลาดแน่ๆ) และอบาโลนนี้ประดับทั้งเพิร์ฟลิ่งขอบหน้าท็อป โรเซ็ท ยัน ลายเฟลมสะกดสายตา เดินขอบบายดิ้งสีดำ ทำสีดำตามขอบบอดี้ดูซันเบิร์สท์นิดๆ

 

เสียง

สำหรับเสียง เมื่อเทียบ A50 ซึ่งไม้หลังเป็นเมเปิลลามิเนท กับ A40 โอแวงคอลแล้ว ผมรู้สึกชัดเจนว่า A50 มีย่านแหลมที่มากกว่า เคลียร์กว่า และยิ่งห่างไกลกว่าพวกมาฮอกกานี (ก็แน่ละ) แต่ย่านเบสจะลดลงไปนิดๆนะครับถ้าเทียบกับตัว A40 ผมสรุปได้ว่า ในเรื่องเสียงนี้ A50 คงเหมาะกับคนที่ต้องการความชัดของตัวโน้ตในทุกๆสไตล์การเล่น ไม่ว่าจะเป็นฟิงเกอร์สไตล์หรือไปจนถึงปั่น single notes ถ้าถามว่ามันเอาไปเล่น finger style ได้ไหมก็ต้องตอบว่าได้แน่นอนครับ เพียงแต่มันจะไม่ให้โทนเสียงฟิงเกอร์แบบอบอุ่น คลาสสิค หวานชวนฝันอะไรทำนองนั้น เจ้านี่มันจะตรงกันข้าม แต่ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะครับ อยู่ที่ว่าเรามองหาอะไรมากกว่า ส่วนตัวผมนี่ชอบอะไรพุ่งๆ เคลียร์ๆ ก็จะถูกจริตกับ A50 มากกว่า A40 อีกอย่าง ฟิงเกอร์บอร์ดและบริดจ์ไม้อีโบนีก็มีส่วนช่วยในเรื่องย่านแหลมด้วย

ส่วนภาคไฟฟ้านั้นผมไม่ได้ลองนะครับ และต้องขออภัยที่ไม่ได้ถ่ายคลิปไว้นะครับ เพราะผมแวะไปคนเดียวไม่มีคนถ่ายให้ อีกอย่างอายฝีมือการเล่นของตัวเองครับ ฮ่าๆๆ

 

ความถนัด

นอกจากต้องการเห็นงานของจริงของรุ่นนี้แล้ว อีกเหตุผลนึงที่ผมต้องเข้าไปลองด้วยตัวเอง คือเรื่องของโปรไฟล์คอซึ่งรุ่นนี้เป็น SE wide fat เนื่องจากผมไม่ถนัดคอตระกูล fat ของ PRS ผมเคยมี PRS USA Singlecut ปี 2006 แล้วขายทิ้งด้วยเหตุผลเดียวคือคอหนาไป (ตอนซื้อซื้อเพราะสวย แล้วหลอกตัวเองว่าเล่นๆไปอีกสักพักคงชิน) สุดท้ายมาจบที่คอ USA Pattern Thin เล่นได้สบายมือกว่ามาก

แต่สำหรับ SE wide fat ผมรู้สึกว่ามันต่างกันครับ คอ wide fat ของ SE นั้นบางกว่าเวอร์ชันอเมริกา อาจไม่ต่างกันแบบฟ้ากับเหว แต่รู้สึกได้ว่าออกแรงน้อยกว่า (27/32″ กับ 28/32″ เทียบเป็นมิลก็ต่างกันราวๆ 1 ม.ม.) นอกจากนี้ผมยังรู้สึกยังกับมันแคบกว่านิดๆด้วยนะ แต่อาจคิดไปเองก็ได้มั้ง เพราะตามหน้าสเปคคอ USA fat กับ SE fat มันกว้างตรงนัทเท่ากัน

ข้อดีอีกอย่างของกีตาร์โปร่ง PRS SE คือ ใช้สเกลสั้นกว่าโปร่งตามท้องตลาดเกือบทุกยี่ห้อทุกรุ่น คือเจ้าตัวนี้สเกลยาว 25.3″ จึงช่วยลดความตึงของสาย ออกแรงน้อยลง โดยรวมค่อนข้างโอเคสำหรับคนข้อมือมีปัญหาแถมเรื่องเยอะแบบผม

 

 

ราคา

ว่ากันตรงๆ ราคา 28,000 บาท (ลดแล้ว) มันก็ค่อนข้างสูงนะ แต่สาเหตุส่วนนึงคงปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาก็ตามคุณภาพของงาน ทั้งสเปคการประดับจัดเต็ม ไม้สวย ฟิงเกอร์บอร์ดอีโบนี เสียงโอเค เล่นค่อนข้างง่าย ที่สำคัญมีเคสให้ด้วย ตอนแรกที่ PRS เปิดตัวรุ่นนี้ในเว็บผมยังนึกว่าน่าจะสักสามหมื่นต้นๆด้วยซ้ำ เพราะงานประดับรุ่นนี้มันเยอะกว่า SE Angelus Custom เสียอีก ส่วนนึงที่ทำให้รุ่นใหม่นี้ยังทำราคาเท่ารุ่นเก่าได้เป็นเพราะการย้ายประเทศที่ผลิตจากเกาหลีมาเป็นจีนนะครับ

 

ส่งท้าย

ผมคิดว่า PRS SE A50E ก็น่าสนใจนะครับ มันจัดเต็มมากๆ สวยสุดๆ ถือไปไหนไม่อายใครอย่างแน่นอน น้ำเสียงมีความใส ได้ย่านแหลมที่เป็นคาแรคเตอร์ของไม้เมเปิลค่อนข้างชัดเจน แพคเกจดูดีมีกล่องแข็งให้ด้วย สรุปได้ว่าถ้าใครมีกำลังจับจ่ายและอยากได้โปร่ง PRS หน้าสวยเสียงใส ก็จัดได้เลยครับ

เพื่อนๆครับ จากประสบการณ์ของผมที่ชอบลองกีตาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกีตาร์ที่มีการรีวิวตามยูทูป ผมอยากบอกเพื่อนๆว่า ไม่ว่ากีตาร์นั้นจะราคาแพงแค่ไหน แบรนด์น่าเชื่อถืออย่างไร ศิลปินดังแค่ไหนก็ตามมารีวิว โปรดระลึกไว้เสมอว่าเสียงของจริงกับในจอมันจะต่างกันอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อยเพราะมีตัวแปรต่างๆเข้ามาเกี่ยวเยอะ  อีกอย่าง ต่อให้ในคลิปเขาอัดสดจากไมค์ ไม่ต่อเข้ามิกซ์ มันก็ไม่เหมือนหูเราฟังเองเล่นเองอยู่ดี อย่าง SE A50E นี้ ในคลิปโปรโมทของ PRS ทำเอาผมเคลิ้มมาก หน้าตาก็ดี เสียงก็ใสยังกับแก้ว และก็เห็นๆกันอยู่ว่าอัดจากไมค์ไม่ผ่านปรีแอมป์ แต่ที่ผมเล่นของจริงมา พูดตามตรงว่าเสียงมันก็โอเคมากๆ ออกไบรท์ ใส อย่างรู้สึกได้ แต่ไม่ได้ใสเวอร์ถึงขั้นในคลิปครับ

ดังนั้นพยายามหาโอกาสลองของจริงก่อนเสมอครับโดยเฉพาะกีตาร์โปร่งยิ่งต้องลอง ก็ฝากไว้แบบเพื่อนบอกเพื่อน เพราะผมเขียนบทความตามข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่มีอวยครับ 

หวังว่าการแวะไปลอง + ถ่ายรูปแป๊บๆ แบบไม่ได้ตั้งใจไปของผม คงช่วยเป็นข้อมูลให้เพื่อนๆได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ